วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีการบริหารการศึกษา

ในการบริหารสถานศึกษา ผู้บริหารควรมีหลักและกระบวนการบริหาร การบริหารการศึกษา หลักการแนวคิดในการบริหาร ภาพรวมของ
การบริหารทั้งนี้เพื่อให้การจัดการบริหารสถานศึกษามีความเหมาะสมผู้เขียนจะได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเข้าใจและมุมมอง
ในการบริหารสถานศึกษายิ่งขึ้นต่อไป
คำจำกัดความ
คำว่า “การบริหาร”(Administration) ใช้ในความหมายกว้าง ๆ เช่น การบริหารราชการ อีกคำหนึ่ง คือ “ การจัดการ” (Management) ใช้แทนกันได้
กับคำว่า การบริหาร ส่วนมากหมายถึง การจัดการทางธุรกิจมากกว่าโดยมีหลายท่านได้ระบุดังนี้
Peter F Drucker : คือ ศิลปะในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกับผู้อื่น (ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ, 2542: 2)
Herbert A. Simon :กล่าวว่าคือ กิจกรรมที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมมือกันดำเนินการให้บรรลุวัถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน (ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ, 2542: 2)
การบริหาร หมายถึง ศิลปะในการทำให้สิ่งต่าง ๆ ได้รับการกระทำจนเป็น ผลสำเร็จ กล่าวคือ ผู้บริหารไม่ใช้เป็นผู้ปฏิบัติ แต่เป็นผู้ใช้ศิลปะทำให้ผู้ปฏิบัติทำงานจนสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ผู้บริหารตัดสินใจเลือกแล้ว (Simon)
การบริหาร คือ กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ (Sergiovanni)
การบริหาร คือ การทำงานของคณะบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่รวมปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน (Barnard)
การบริหาร หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายๆอย่างที่บุคคลร่วมกันกำหนดโดยใช้กระบวนอย่างมีระบบและให้ทรัพยากรตลอดจนเทคนิคต่างๆ อย่างเหมาะสม (สมศักดิ์ คงเที่ยง , 2542 : 1)
ส่วนคำว่า “การบริหารการศึกษา” หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลหลายคนร่วมกันดำเนินการ เพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมในทุกๆ ด้าน นับแต่ บุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ เจตคติ พฤติกรรม คุณธรรม เพื่อให้มีค่านิยมตรงกันกับความต้องการของสังคม โดยกระบวนการต่างๆ ที่อาศัยควบคุมสิ่งแวดล้อมให้มีผลต่อบุคคล และอาศัย
ทรัพยากร ตลอดจนเทคนิคต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้บุคคลพัฒนาไปตรงตามเป้าหมายของสังคมที่ตนดำเนินชีวิตอยู่(ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ, 2542: 6)
คำว่า “สถานศึกษา” หมายความ ว่าสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ศูนย์การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ศูนย์การเรียน วิทยาลัย วิทยาลัยชุมชน สถาบันหรือสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและตามประกาศกระทรวง(พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, 2547 : 23)

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปณิธาน 3 ประการ ที่จะช่วยให้มนุษย์พ้นวิกฤต

โดยประเวศ วะสี

โครงการจิตวิวัฒน์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
NewConsciousness@thainhf.org
คอลัมน์ จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ฉบับวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2548
ปีที่ 27 ฉบับที่ 9800 หน้า 8


ในสมัยโบราณมนุษย์อยู่กันตามกระเปาะทางวัฒนธรรม (cultural pockets) ตามสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย เรียกว่า มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลายหลายทางวัฒนธรรมเป็นธรรมชาติ เพราะวัฒนธรรมสัมพันธ์อยู่กับสิ่งแวดล้อมซึ่งแตกต่างกัน เช่น คนที่ขั้วโลก คนในทะเลทราย คนในเขตหนาว คนในเขตร้อน คนบนเขา คนริมทะเล ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน

กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ ๆ เรียกว่า “อารยธรรม” เช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห เป็นต้น

เมื่อชาวยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์ แล้วนำวิทยาศาสตร์มาสร้างอาวุธที่มีอำนาจมาก เช่น เรือรบ ปืนใหญ่ ปืนกล ทำให้เกิดอำนาจมหาศาลอย่างที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ อารยธรรมใหญ่ ๆ ที่มีอายุประมาณ 5,000 ปี อย่างอารยธรรมอินเดีย และอารยธรรมจีน ไม่สามารถต้านทานอำนาจการยิงอันมหึมาของชาวยุโรปได้

อำนาจอันรุนแรงของชาวยุโรปทำให้โลกมีโครงสร้างใหม่แทนที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม โลกทั้งโลกถูกบังคับให้มีอารยธรรมเดียว จะเรียกว่าโลกาภิวัตน์หรืออะไรก็ตามที แต่แก่นแกนของมันคือ อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยม

อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมได้เข้าครอบงำโลก ทั้งในด้านโลกทัศน์และวิธีคิด การศึกษา โครงสร้างทางสังคมต่าง ๆ

ในอารยธรรมนี้ได้เกิดขนาดเงินอันมโหฬารอย่างที่แต่ก่อนไม่มี และด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เงินจำนวนมหาศาลนี้วิ่งรอบโลกด้วยความเร็วของแสง

เงินอันมหึมานี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ แต่ไปดูดเงินที่มีน้อยกว่าของส่วนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และมีการจัดการไม่ดีเท่า เงินอันมหึมาได้เข้าทำลายคุณค่าต่าง ๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม จิตวิญญาณ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โลกที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดก่อให้เกิดระบบซับซ้อน (complex system) ที่ขับเคลื่อนด้วยโลภจริตขนาดใหญ่ สภาพโกลาหล (chaos) และวิกฤตการณ์จึงเป็นปรากฏการณ์ถาวร

คนทั้งโลกถูกโครงสร้างโลกครอบงำ กดทับ บีบคั้น จึงเกิดความเครียด ความทุกข์ ความท้อแท้สิ้นหวัง เป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ติดยาเสพติด มีความรุนแรง ขาดอิสรภาพ ไม่สามารถใช้ศักยภาพที่ตนมีเพื่อสร้างสรรค์ได้อย่างที่ควรเป็น อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมกำลังพาโลกทั้งโลกไปสู่สภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง

นักปราชญ์ตะวันตกได้มองเห็นวิกฤตการณ์ของอารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมแล้วในขณะนี้ แต่นักปราชญ์ไทยท่านหนึ่งเห็นมาก่อนใคร ตั้งแต่ พ.ศ.2547 โน่นแล้วที่ใคร ๆ ยังมองไม่เห็น ท่านได้พยายามตะโกนบอกเพื่อนมนุษย์เป็นอเนกปริยายว่า "วิกฤตแล้วโว้ย ๆ" ท่านผู้นี้เป็นมหาบุรุษร่วมสมัยกับเรา คือ ท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถร แห่งสวนโมกขพลาราม ซึ่งมรณภาพไปเมื่อ พ.ศ.2536 และจะครบ 1 รอบศตวรรษแห่งชาตกาลในวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 นี้

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ฝากปณิธานไว้ 3 ข้อ โดยความดังนี้
1. ขอให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงหัวใจของหลักธรรมของศาสนาของตน ๆ
2. ขอให้มีความร่วมมือระหว่างศาสนา
3. ขอให้มนุษย์ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม

ในช่วงที่โลกก็วิกฤต ไทยก็วิกฤตไปตามโลกด้วยอย่างไม่มีทางออก และเรากำลังจะเข้าสู่ 1 ศตวรรษแห่งชาตกาลของท่านมหาเถระ คนไทยน่าจะพากันศึกษาปณิธานทั้ง 3 ประการกันอย่างจริงจัง อันจะทำให้พบทางออกจากวิกฤต

การคิดภายใต้ความครอบงำของสภาพที่ดำรงอยู่ไม่ทำให้พ้นวิกฤตได้ แต่มนุษย์สามารถหลุดจากมายาคติทั้งปวงไปสู่อิสรภาพและประสบความจริง ความงาม ความถูกต้องได้โดยการเข้าถึงศาสนธรรม

ปณิธาน 3 ประการของอาจารย์พุทธทาสมหาเถระ อาจถอดออกเป็นการปฏิบัติและการสนับสนุนการปฏิบัติได้ 4 ประการ ดังนี้
1. ทุกคนควรพยายามศึกษาศาสนธรรมของศาสนาที่ตนนับถือให้มากเป็นกิจวัตร จะทำให้พบอิสรภาพ ปัญญา และสันติ
2. สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรส่งเสริมการเจริญสติเป็นวิถีชีวิต โดยส่งเสริมให้มีสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ดีให้เป็นที่นิยมแพร่หลาย กับส่งเสริมให้ระบบการศึกษาทุกระดับมีหลักสูตรพัฒนาจิตภาคปฏิบัติ
3. มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีศูนย์วิจัยและพัฒนาจิต ที่จะให้นิสิตนักศึกษามีการพัฒนาจิตด้วยวิธีที่แตกต่างหลากหลายอันถูกจริตของแต่ละบุคคล มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ควรจะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการสานเสวนา (dialogue) ระหว่างศาสนาต่าง ๆ และมีการเผยแพร่การเสวนานั้นให้แพร่หลาย
4. กรมการศาสนาควรจะทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมข้อ 1-3 ข้างต้น รวมทั้งให้มีการสานเสวนาระหว่างศาสนาทางวิทยุและโทรทัศน์เป็นประจำ

มนุษย์สามารถประสบความสุขและอิสรภาพจากการเข้าถึงธรรม ซึ่งเป็นความสุขอันประณีต ก็จะค่อย ๆ ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทางจิตใจ (mental transformation) จะไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคมและพฤติกรรม อันจักเป็นไปเพื่อความสุขและศานติ

หลวงปู่ฝั้น

หลวงปู่ฝั้น on PhotoPeach